กรอบแนวคิด โครงการลดเปลี่ยนโลก ปีที่ 2

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ทั้งการใช้พลังงาน การอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม การพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง  การตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต ซึ่งปัจจุบันปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้น การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นแม้เพียง 0.5 องศาเซลเซียส ก็ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยพิบัติต่าง ๆ

ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร ?

ก๊าซเรือนกระจก เป็นกลุ่มก๊าซที่มีความสำคัญต่อการรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ และช่วยดูดซับคลื่นรังสีความร้อนหรือรังสีอินฟาเรดได้ดี โดยก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซหลายชนิดทั้งที่มีอยู่เดิมในธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ ไอน้ำ (H2O) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นได้แก่ ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3)

ปัจจุบันจากการปฎิวัติอุตสาหกรรม การผลิตสินค้าและบริการ การบริโภค และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากจนเกินกว่าสมดุลของโลกที่จะจัดการได้ นำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อน โดยก๊าซเรือนกระจกแต่ละตัวมีศักยภาพการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) แตกต่างกัน ดังนี้

ก๊าซเรือนกระจก

อายุในชั้นบรรยากาศ (ปี)

GWP

(เท่าของ CO2)

คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 5 – 200 1
มีเทน (CH4) 12 28
ไนตรัสออกไซด์ (N2O) 114 265
ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) 1.4 – 270 4 – 12,400
เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) 1,000 – 50,000 6,630 – 23,500
ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) 3,200 23,500
ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) 740 17,200

ที่มา: The Synthesis Report (SYR) of the IPCC Fifth Assessment Report (AR5)-2014

หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อเตรียมมาตรการและกลยุทธ์ที่เป็นไปได้ในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้จัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ ครอบคลุมถึงการดำเนินงานและความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบสภาวะอากาศและระบบนิเวศ โดยได้มีการจัดประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) เพื่อเจรจากำหนดข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิก เกิดเป็นข้อตกลงที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน เช่น ข้อตกลงภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งนี้จากการประชุมสมัยที่ 26 (COP26) ประเทศสมาชิกต่างประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งภัยอันตรายของมวลมนุษยชาติ และประเทศไทยได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065

“ลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ร่วมส่งเสริม Carbon Neutral Society<br /> สร้างสรรค์สังคมให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน”

ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หมายถึง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา เรียกได้ว่ามีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเราสามารถสร้างชุมชนให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ด้วย 3 แนวทาง คือ

  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Reduce Emission)
  • การเพิ่มการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (More Adsorption)
  • การชดเชยทางคาร์บอน (Carbon Offset)

ภาพตัวอย่างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

ที่มา: ดัดแปลงจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

โดยแนวทางต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้

1. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Reduce Emission) คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อุปกรณ์ หรือเพิ่มวิธีการต่าง ๆ เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถลดได้ในหลากหลายวิธีได้แก่

1.1 การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือใช้พลังงานทางเลือก

การได้มาซึ่งกระแสไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนมากยังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิตแทบทั้งสิ้น จากข้อมูลสถิติของกระทรวงพลังงาน ปี พ.ศ.2566 พบว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดคือ ก๊าซธรรมชาติ (59%) รองลงมาคือ ถ่านหิน/ลิกไนต์ (14%) ยิ่งมีการใช้ไฟฟ้ามากเท่าไหร่ยิ่งจะส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการผลิตไฟฟ้าได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซ  ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ดังนั้นการลดการใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน การเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน การใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ ทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าที่ต้นสายส่ง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พลังงานก๊าซชีวภาพ ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีอยู่ในท้องถิ่น ก็เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

1.2 การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ

     การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคนั้น ทุกกระบวนการล้วนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เริ่มตั้งแต่การได้มาของน้ำดิบนำเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปาจนถึงการบำบัดน้ำเสีย ทุกขั้นตอนต้องใช้สารเคมี พลังงานไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้งสิ้น นอกจากนี้น้ำเสียที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานประกอบการ หรือจากการใช้ในชีวิตประจำวัน อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีหรือมีสารอินทรีย์อยู่สูง ถ้าไม่ผ่านการบำบัดอย่างถูกวิธีก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะทำให้แหล่งน้ำนั้นเน่าเสีย กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญคือ ก๊าซมีเทน (CH4) และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ รวมถึงส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ดังนั้นการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ใช้แล้วก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ รวมทั้งการดูแลรักษาคุณภาพและจัดการการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

1.3 การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การเดินทางด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือเครื่องยนต์สันดาปประเภทต่าง ๆ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน, ก๊าซLPG, ก๊าซNGV) ซึ่งจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซมีเทน (CH4) และไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการมีการจัดการระบบการเดินทางที่ดี หรือลดการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเลือกใช้ยานพาหนะหรือเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน การเปลี่ยนมาเดินหรือใช้รถจักรยานในระยะทางใกล้ ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

1.4  การจัดการขยะอย่างถูกวิธี ครบวงจร และเหมาะสม

ขยะที่เกิดจากการใช้สินค้าและบริการในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนไป เน้นความรวดเร็ว สะดวกสบายและการขาดการคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา อีกทั้งตอนทิ้งก็ไม่มีการคัดแยกอย่างถูกวิธีทำให้ขยะที่ยังใช้ประโยชน์ได้ถูกนำไปรวมกับขยะประเภทอื่น ๆ และทำให้ขยะมีปริมาณมากขึ้น ขยะที่กองรวมกันเมื่อเกิดการหมักหมมจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คือ ก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งการกำจัดด้วยการเผาหรือการฝังขยะปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นนี้ต้องใช้พลังงานจำนวนมากและเกิดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ดังนั้น การลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดการใช้ (Reduce) การคัดแยกขยะก่อนทิ้งอย่างถูกวิธี เพิ่มการนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) เพื่อยืดอายุของสิ่งนั้นให้นานขึ้นก่อนกลายเป็นขยะ การคัดแยกส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Recycle) รวมทั้งการคิดก่อนที่จะซื้อสิ่งของ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรปฎิบัติ เพื่อให้เหลือขยะที่ต้องถูกส่งไปกำจัดน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก

1.5 การลดการใช้สารเคมีในการเกษตร

การใช้ปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารหลักของพืช (ไนโตรเจน: N, ฟอสฟอรัส:P, โพแทสเซียม: K) สารเคมีในการกำจัดวัชพืช (Herbicide) ศัตรูพืช (Insecticide) และสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) เช่น สารประเภทคลอรีนอินทรีย์ (Organochlorine) ในการเกษตร โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นแหล่งสำคัญที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซมีเทน (CH4) การใช้สารเคมีเป็นเวลานานยังทำให้ดินเสื่อมสภาพ อาจมีการสะสมสารพิษที่ทำลายสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดินส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้นการลดหรือเลิกใช้สารเคมีเหล่านี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือวัสดุธรรมชาติทดแทนปุ๋ยเคมียังเป็นการเพิ่มการสะสมอินทรียวัตถุในดิน ซึ่งทำให้เกิดการตรึงและเก็บกักคาร์บอนไว้ในดินได้มากขึ้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยรักษาระบบนิเวศ คืนความสมบูรณ์ให้กับดินได้อีกด้วย

1.6 การลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ลดการเผาขยะและวัสดุอื่น ๆ

การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะ และวัสดุอื่น ๆ ในพื้นที่โล่ง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซมีเทน (CH4) (US-EPA, 2021) รวมถึงมลพิษทางอากาศ เขม่าควันของเถ้าคาร์บอน ที่ส่งผลต่อทัศนวิสัยและกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ดังนั้นการลดการเผานอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยลดมลพิษอากาศได้อีกด้วย

2. การเพิ่มการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (More Adsorption) คือ การเพิ่มตัวดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งด้วยวิธีทางธรรมชาติหรือการใช้เทคโนโลยี ได้แก่

2.1 การเพิ่มและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว

พื้นที่สีเขียวเป็นแหล่งสำคัญในการช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตามธรรมชาติ เนื่องจากต้นไม้ต้องใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารและปล่อยก๊าซออกซิเจน (O2) ออกมา โดยต้นไม้สามารถดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ต้นไม้ยังช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ช่วยลดอุณหภูมิจากกระบวนการคายน้ำ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตร/คน นอกจากนี้การบุกรุกตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อเอาไม้ไปขาย หรือทำการเกษตรหรือสร้างที่อยู่อาศัยจะทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นการปลูกต้นไม้เพิ่มและการอนุรักษ์ ดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิมจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งควรมีการสำรวจพื้นที่ จำนวน ชนิดพันธุ์ไม้ และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่สีเขียวดังกล่าว เพื่อเป็นฐานข้อมูลทรัพยากร ซึ่งอาจนำไปพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้หรือเป็นข้อมูลสำหรับการขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ต่อไปในอนาคต

2.2 การใช้เทคโนโลยีในการจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การใช้เทคโนโลยีในการดักจับ กักเก็บ หรือนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง ทำวัสดุก่อสร้าง การกักเก็บใต้พื้นดิน การตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยสาหร่ายขนาดเล็ก รวมถึงการทำถ่านชีวภาพหรือไบโอชาร์ (Biochar) เพื่อกักเก็บคาร์บอนลงในดินและช่วยปรับสภาพดิน เป็นต้น

  1. การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) คือ ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) จากหน่วยงานที่มีการรับรองเพื่อให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา ซึ่งการชดเชยคาร์บอนจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถลดหรือเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เราปล่อยได้ จึงจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากหน่วยงานที่รับการรับรอง ทั้งนี้เราสามารถต่อยอดกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปขอการรับรองขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปขายได้เช่นกัน

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

  1. สำนักนโยบายแลแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
  3. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
  4. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

5. U.S. Environmental Protection Agency